พัฒนาที่ดินสุพรรณ จัดงานรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช
เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 60 พรรษาษา


           

                 วันพุธที่ 21 มกราคม 2558 สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าไซ และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันจัดงาน “โครงการรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช (ไถกลบตอซัง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และบรรเทาภาวะโลกร้อน) เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 60 พรรษา” มีนายวัฒนา ยั่งยืน นายอำเภอหนองหญ้าไซ กล่าวต้อนรับ นายวันชัย วงษา ผู้อำนวยการ สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี กล่าวรายงาน นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ที่ปรึกษากรมพัฒนาที่ดิน ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด ฯ
               เนื่องจากปี พ.ศ. 2558 นี้ เป็นปีมหามงคล ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พระองค์ทรงตามรอยพระบาท องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ให้ความใส่พระทัย เกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินและพัฒนาการเกษตร ให้เป็นฐานการผลิตและการพัฒนาอย่างมั่งคงและยั่งยืน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร ประชาชน ผู้เป็นพระสกนิกรของพระองค์ท่าน
                ฯพณฯ ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน อยากให้ข้าราชการของกระทรวงเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน จัดกิจกรรมดีดี ที่เป็นประโยชน์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน ปีพุทธศักราช 2558 นี้
                ซึ่ง ฯพณฯ ปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา และ อธิบดีอภิชาต จงสกุล ได้สนองพระราชดำริและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกษตรกร ได้มีการบริหารจัดการทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทางเลือกในการผลิตระบบทางการเกษตร เกษตรอินทรีย์ อย่างน้อยก็ช่วยลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร ที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิต สนับสนุนให้มีการรณรงค์การผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทาน รวมทั้งมีการจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อบริหารและจัดการร่วมกันภายในกลุ่ม ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร และพัฒนาการผลิต ไปสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ต่อไป โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะ และวัสดุเหลือใช้ ในไร่นา และโรงงานอุตสาหกรรม
                เพราะ ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรกรรมของประเทศไทย มีระดับปริมาณอินทรียวัตถุในดินค่อนข้างต่ำมาก คือ ดินที่มีอินทรียวัตถุประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์หรือน้อยกว่า มีพื้นที่มากถึง 191 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากธาตุอาหารในดิน จะสูญเสียไปในรูปผลผลิตที่เก็บเกี่ยวออกไปจำหน่ายหรือบริโภค ซึ่งสูญเสียไปอย่าถาวร(ไปประเทศไหนไม่รู้) และสูญเสียไปในรูปตอซัง/เศษพืชที่เกษตรกรเผ่าทิ้งหลังเก็บเกี่ยว จากการสำรวจวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของประเทศไทย พบว่า ในแต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 39.1 ล้านตัน แบ่งเป็นตอซังฟางข้าว 26.9 ล้านตัน ซังข้าวโพด 7.8 ล้านตัน เศษใบอ้อย 2 ล้านตัน วัสดุพืชไร่ชนิดอื่นๆ ประมาณ 2.4 ล้านตันต่อปี จากปริมาณวัสดุดังกล่าว เมื่อคำนวณเป็นปริมาณปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม 2.8, 0.7 และ 5.9 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1,930.2, 741.4 และ 4,731.4 ล้านบาท ตามลำดับ รวมเป็นมูลค่าของปุ๋ยทั้งสิ้น 7,043 ล้านบาท
               เฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่มีพื้นที่ทำการเกษตร ประมาณ 2,409,700 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าวประมาณ 1,394,300 ไร่ พืชไร่ประมาณ 893,300 ไร่ ไม้ผลประมาณ 43,400 ไร่ มีวัสดุเหลือใช้ในส่วนของฟางและตอซังพืช ปีละไม่น้อยกว่า 2,830,000 ตัน ดังนั้น การนำส่วนของพืชออกไปจากพื้นที่การเกษตรแต่ละครั้ง จึงเท่ากับเป็นการสูญเสียอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดินเป็นจำนวนมาก การไถกลบตอซัง เป็นการปฏิบัติอีกวิธีหนึ่งเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินโดยตรง สะดวกและง่ายที่สุดที่เกษตรกรทำได้ เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการแปรรูป ไม่ต้องซื้อหา ไม่ต้องขนส่งหรือเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาระบบการเกษตรแบบยั่งยืน
              ในส่วนของ สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี จะหาโอกาสจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ 60 พรรษา ให้ได้ทุกเดือน ได้แก่ รณรงค์ไถกลบตอซัง ไถกลบพืชปุ๋ยสด ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกหญ้าแฝก รณรงค์ผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทาน ฯลฯ แล้วแต่โอกาส อย่างเช่น
              วันพุธที่ 21 มกราคม 2558 สถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี (นำโดย ผอ.วันชัย วงษา) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี (นำโดย ผอ.สุรพล จตุพร) สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี (นำโดย สุรเชษฐ สุนทรศาสตร์ ประมงจังหวัด) และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรฯ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ร่วมกันจัดงาน “โครงการรณรงค์งดเผาฟางและตอซังพืช (ไถกลบตอซัง เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และบรรเทาภาวะโลกร้อน) เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 60 พรรษา” มีนายวัฒนา ยั่งยืน นายอำเภอหนองหญ้าไซ กล่าวต้อนรับ นายวันชัย วงษา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสุพรรณบุรี กล่าวรายงาน นายเกรียงศักดิ์ หงษ์โต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ที่ปรึกษากรมพัฒนาที่ดิน ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิด ฯ
              โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคล ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้ รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึก และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจ ในการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวไปแล้ว จะเหลือเศษพืช ตอซัง ฟางข้าวจำนวนมาก เฉลี่ยไร่ละไม่ต่ำกว่า 1 ตัน หากเผาทิ้งก็จะเป็นการเผาปุ๋ย เผาเงิน เผาสิ่งที่มีประโยชน์ทิ้งไป ผลกระทบจากการเผา ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน ที่ต้องถูกเผาทำลายไปด้วย กรมพัฒนาที่ดิน ได้รณรงค์/ส่งเสริมให้เกษตรกร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาทำลายตอซังฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยว หันมารณรงค์ใช้น้ำหมักชีวภาพ พด.2 หมักตอซังฟางข้าว 7-15 วัน แล้วไถกลบ เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นการคืนความอุดมสมบูรณ์ และความเหมาะสมในการปลูกพืชให้กับดิน เป็นกิจกรรมที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้อย่างกว้างขวาง เพราะไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ต้องซื้อหา หรือเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น เป็นการปรับปรุงบำรุงดินที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และยั่งยืน โดยมีการไถกลบฟางและตอซังพืช ในพื้นที่ ประมาณ 50 ไร่
               นอกจากนั้น ยังมีการปล่อยปลาตะเพียนขาว จำนวน 20,000 ตัว ปลูกไม้ป่าและไม้ผลยืนต้น จำนวน 160 ต้น และ ปลูกหญ้าแฝก จำนวน 26,000 กล้า บนพื้นที่แปลงนาสาธิตและระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ของนายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ หมอดินอาสาประจำจังหวัดสุพรรณบุรี และประธานศูนย์เรียนรู้และบริการด้านการพัฒนาที่ดิน บ้านหนองเต่าทอง หมู่ที่ 1 ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน หมอดินอาสา เกษตรกร และประชาชน ชาวตำบลหนองราชวัตร และตำบลใกล้เคียง มาร่วมงานประมาณ 300 คน
              ในงาน สถานีพัฒนาที่ดินฯ และส่วนราชการกระทรวงเกษตร ได้ให้คำแนะนำ/เผยแพร่ความรู้ ด้านการพัฒนาการเกษตร ร่วมจัดนิทรรศการ เกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน ไถกลบตอซังพืช การผลิต การปรับใช้และใช้เทคโนโลยีชีวภาพ การอนุรักษ์ดินและน้ำด้วยหญ้าแฝก การผลิตปุ๋ยสูตรพระราชทานฯ การผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์/สารชีวภาพเพื่อการเกษตร การพัฒนาที่ดิน/การพัฒนาการเกษตรรูปแบบต่างๆ การบริการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน รวมทั้งมีน้ำหมักชีวภาพพร้อมใช้และผลิตภัณฑ์ (สารเร่ง พด.ต่างๆ) ของกรมพัฒนาที่ดิน แจกจ่ายแก่เกษตรกรและผู้ที่มาร่วมงาน ทุกท่าน โดยมีหัวหน้าไพโรจน์ ประสิทธิ์นอก หัวหน้าภิญโญ หนูแก้ว และ ทีมงานพัฒนาที่ดิน เป็นแม่งาน
              กิจกรรมดังกล่าว ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และสมพระเกียรติฯ ตั้งแต่เวลา 08.30 น. – 15.30 น. จึงแยกย้ายกันกลับโดยสวัสดิภาพ

             1) กำหนดการการจัดงานรณรงค์ไถกลบฯ
             2) เอกสารประกอบงานรณรงค์ไถกลบตอซังฯ